รูปภาพของผมครับ

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การรีดนมวัว


การรีดนม




          หมายถึง   การกระทำอย่างใดอยางหนึ่งเพื่อที่จะเอานมออกจากเต้านมของแม่โค   น้ำนมส่วนมากจะถูกขับออกมาโดยการกระตุ้นทางระบบประสาทและฮอร์โมนพร้อม ๆ กับการรีด  นั่นคือ  การทำให้ภายในหัวนมเกิดมีแรงอัดดันจนทำให้รูหูนมเปิดออก   น้ำนมซึ่งอยู่ภายในจึงไหลออกได้
การรีดนมมีอยู่ 2 วิธีคือ
          1.  การรีดนมด้วยมือ
          2.  การรีดนมด้วยเครื่อง
หลักที่ควรคำนึงถึงและถือปฏิบัติในการรีดนม
          1.  ควรรีดให้สะอาด
          2.  ควรรีดให้เสร็จโดยเร็ว
          3.  ควรรีดให้น้ำนมหมดเต้า

อุปกรณ์การรีดนมด้วยมือ
 ขั้นตอนในการรีดนมเพื่อให้ได้น้ำนมที่สะอาด
          1.  การเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโดยใช้น้ำยาคลอรีนอย่างเจือจาง
          2.  การเตรียมอุปกรณ์การรีดซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำการรีดและแม่โค   ให้เรียบร้อยการเตรียมการต่าง ๆ ควรจัดการให้สะอาดหรือฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคลอรีน
          3.  ทำความสะอาดตัวโคและบริเวณคอกที่สกปรก
          4.  ล้างเต้านมด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำยาคลอรีนพร้อมกับนวดเช็ดเบา ๆ
          5.  ก่อนลงมือรีดควรตรวจสอบความผิดปกติของน้ำนมหรือทำการรีดน้ำนมที่ค้างอยู่ในหัวนมทิ้งเสียก่อน
          6.  ขณะลงมือรีดนมควรรีบรีดให้เร็วที่สุดไม่หยุดพัก   กะให้เสร็จภายใน  5 - 8 นาที  และต้องรีดให้หมดทุกเต้า

 การรีดนมด้วยมือ
          กระทำได้โดยการ
 ใช้นิ้วหัวแม่มือ   นิ้วชี้บีบหรือรีดหัวนมตอนบน   เพื่อเป็นการปิดทางนมเป็นการกันไม่ให้น้ำนมในหัวนมหนีขึ้นไปอยู่ตอนบน   ต่อมาก็ใช้นิ้วที่เหลือ (กลาง, นาง, ก้อย)  ทำการบีบไล่น้ำนมตั้งแต่ตอนบนเรื่อยลงมาข้างล่างจะทำให้ภายในหัวนมมีแรงอัดและน้ำนมจะถูกดันผ่านรูนมออกมาและเมื่อขณะที่ปล่อยช่องนิ้ว (หัวแม่มือ, นิ้วชี้)  ที่รีดนัวนมตอนบนออก   น้ำนมซึ่งมีอยู่ในถุงพับนมข้างบนจะไหลลงมาส่วนล่าง   เป็นการเติมให้แก่หัวนมอีกเป็นเช่นนี้ตลอดระยะเวลาที่รีดจนกระทั่งน้ำนมหมด

การรีดนมด้วยมือ
 วิธีการหยุดรีดนมแม่โค
          ในการหยุดรีดนมแม่โค
  โดยเฉพาะแม่โคที่เคยให้นมมาก ๆ ควรจะต้องระมัดระวังในการหยุดรีด   เพราะอาจจะทำให้เกิดโรคเต้านมอักเสบได้โดยง่าย   วิธีการหยุดรีดควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป  กล่าวคือ  ในขั้นต้นอย่ารีดให้น้ำนมหมดเต้าเลยทีเดียว  ในช่วงแรก ๆ ควรค่อย ๆ ลดอาหารข้นลงบ้างตามส่วน   แล้วต่อไปจึงเริ่มลดจำนวนครั้งที่รีดนมในวันหนึ่ง ๆ ลงมาเป็นวันละครั้ง   ต่อมาก็รีดเว้นวันและต่อมาก็เว้นช่วงให้นานขึ้น   จนกระทั่งหยุดรีดนม   ในที่สุดซึ่งปกติโดยทั่ว ๆ ไปจะใช้เวลาประมาณ 15 - 30 วัน  และในขณะที่หยุดพักรีดนมนี้จะต้องหมั่นสังเกตเต้านมอยู่เสมอ   ถ้าปรากฏว่าบวมแดงหรืออักเสบ   ต้องรีบตามสัตวแพทย์มาช่วยรักษาและต้องหวนกลับมารีดนมตามเดิมไปก่อน   ถ้าไม่มีโรคแทรกแล้วเต้านมของแม่โคที่พักการให้นมใหม่ ๆ โดยทั่วไปก็จะคัดเต้าอยู่สักระยะหนึ่ง   แล้วจึงค่อย ๆ ลีบเล็กลงไปในที่สุด

 ปัญหาที่พบบ่อยในการรีดนม
          1.  ถ้ารู้ว่าโคตัวใดเป็นโรคเต้านมอักเสบให้ทำการรีดหลังโคตัวอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกระจายของโรค  และควรรีดเต้าที่อักเสบทีหลังสุด  และให้ระวังการเช็ดล้างเต้านม
          2.  ถ้าโคตัวใดเป็นแผลหรือเป็นฝีที่หัวนม  ขณะที่ทำการรีดนมแม่โคอาจแสดงอาการเจ็บปวด  อาจทำร้ายคนรีดได้ในกรณีเวลารีดควรแตะต้องแผลให้น้อยที่สุดและควรรีบจัดการรักษาใส่ยาหรือใช้ขี้ผึ้งทา   หลังรีดนมเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดด้วย
          3.  ถ้ามีโคตัวใดนมรั่ว  ซึ่งเกิดจากเต้านมคัดซึ่งเป็นเพราะกล้ามเนื้อวงแหวนที่รัดรูหัวนมไม่แข็งแรงพอหรือค่อนข้างเสื่อมสมรรถภาพ  กรณีที่ไม่มีแนวทางแก้ไขอาจใช้จุกปิดหรืออุดรูหัวนม  หรือใช้วิธีรีดนมให้ถี่ขึ้นก็ได้
          4.  ถ้าพบว่าแม่โคบางตัวให้น้ำนมที่มีสีผิดปกติเกิดขึ้น   กล่าวคือ   น้ำนมอาจเป็นสีแดงหรือมีสีเลือดปนออกมา  ซึ่งอาจเป็นเพราะเส้นเลือดฝอยในเต้านมแตกซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ จะค่อย ๆ หายไปเองในไม่ช้า   น้ำนมที่ได้ควรนำไปให้ลูกโคกินไม่ควรบริโภค
          5.  ถ้าพบว่าแม่โคตัวใดเตะเก่ง   ขณะทำการรีดจะต้องใช้เชือกมัดขา   ซึ่งควรค่อย ๆ ทำการฝึกหัดให้เคยชิน  โดยไมต้องใช้เชือกมัด   เพราะวิธีการมัดขารีดนมไม่ใช่เป็นวิธีการที่ดีจะทำให้วัวเคยตัว




ขอบคุณข้อมุลจาก  
http://www.dld.go.th/service/dairy_cattle/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น