รูปภาพของผมครับ

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Mastitis ในวัว

                                     Mastitis






            เต้านมอักเสบ หมายถึงการอักเสบของส่วนต่างๆ ของเต้านม เช่น กระเปาะสร้างนม ท่อน้ำนม ท่อรวมน้ำนมหรือโพรงหัวนม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเต้านม น้ำนมและส่วนประกอบของน้ำนม มีผลให้คุณภาพน้ำนมด้อยลงไป ดังนั้นเต้านมอักเสบจึงเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพราะนอกจากทำให้คุณภาพของน้ำนมเสื่อมลงแล้วปริมาณน้ำนมก็ลดลงด้วยและยังต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคอีก น้ำนมที่ได้ก็ไม่คงทนต่อความร้อนเมื่อผ่านขบวนการพาสเจอร์ไรส์แล้วจะไม่สามารถเก็บไว้ได้นานและรสชาติเปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคไม่อยากดื่มนม นอกจากนี้นำนมอาจมีพิษจากเชื้อแบคทีเรีย หรือยาที่ใช้ในการรักษาโรคหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนสนใจการบริโภคน้ำนมมากขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจึงควรให้ความสนใจต่อโรคเต้านมอักเสบและมีความรับผิดชอบต่อคุณภาพน้ำนมอันจะเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์น้ำนมมีคุณภาพ
โครงสร้างและการทำงานของเต้านมโค
เต้านมโคมี 4 เต้า อยู่ระหว่างขาหลัง 2 เต้า เต้านมแต่ละเต้าแยกกันอย่างอิสระด้วยแผ่นผังผืดกั้นซ้ายและขวา หน้าและหลัง ดังนั้นหากเต้านมเต้าใดเต้าหนึ่งติดเชื้อทางหัวนม เชื้อจะไม่สามารถแทรกผ่านผังผืดจากเต้าหนึ่งไปยังอีกเต้าหนึ่งได้ นอกเสียจากว่าการติดเชื้อนั้นมาทางกระแสโลหิต ซึ่งในกรณีเช่นนี้เต้านมมักจะติดเชื้อทั้ง 4 เต้า ภายในเต้านมแต่ละเต้าประกอบด้วยเนื้อเยื่อลักาณะคล้ายฟองน้ำอยู่ส่วนบนและส่วนล่างจะเป็นแหล่งรวมน้ำนม ที่ส่วนบนจะประกอบด้วยกระเปาะสร้างน้ำนม น้ำนมที่สร้างขึ้นที่นี่จะไหลผ่านท่อน้ำนมเล็กลงสู่ท่อใหญ่ แล้วไปรวมกันอยู่ที่แอ่งรวมน้ำนม ก่อนถึงเวลารีดแม่โคจะปล่อยฮอร์โมนชนิดหนึ่งชื่ออ๊อกซีโทซินออกมา ฮอร์โมนจะออกฤทธิ์อยู่นาน 6-8 นาที หลังจากนั้นกล้ามเนื้อกระเปาะสร้างน้ำนมจะคลายตัว จึงไม่มีน้ำนมไหลออกมาอีก เมื่อเวลารีดนมน้ำนมจากแอ่งรวมน้ำนมจะไหลผ่านมายังโพรงหัวนม (Teat cistern) ที่ปลายหัวนมจะมีรูเปิดขนาดเล็ก ซึ่งโดยปกติรูเปิดนี้จะปิดอยู่เสมอด้วยการหดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดที่แข็งแรง ถ้ากล้ามเนื้อจุดนี้ไม่แข็งแรงอาจเนื่องจากการรีดนมที่รุนแรง การกระทบกระแทรกหรือการเสื่อมสภาพเมื่อโคอายุมากขึ้นทำให้น้ำนมไหลออกมาเองได้เมื่อใกล้เวลารีดนม จึงเป็นสาเหตุให้แม่โคตัวนั้นเป็นโรคเต้านมอักเสบได้ง่าย ความยาวของรูเปิดประมาณ 7-11 มิลลิเมตรและโดยปกติรูเปิดจะถูกปิดด้วยสารชนิดหนึ่งเรียกว่า เคราติน เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ภายในเต้านม ดังนั้นการสอดยาเข้าเต้านมโคจึงไม่ควรสอดลึกจนเลยรูเปิดของหัวนมนี้เข้าไป เพราะปกติแล้วเชื้อโรคจะไม่สามารถผ่านแนวป้องกันตามธรรมชาตินี้ได้


                สาเหตุ
โรคเต้านมอักเสบมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนมาก แต่อาจเกิดจากเชื้อราหรือยีสส์ก็ได้ โคสามารถติดเชื้อแบคทีเรียได้จาก 2 แหล่งสำคัญคือ จากแม่โคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบและจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวโคเอง เช่น อุจจาระ พื้นคอก มือผู้รีด เป็นต้น เชื้อแบคทีเรียที่พบในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวโคได้แก่ สเตรปโตคอกคัส, อี. คอไล, แคลบเซลล่านิวโมนิอี เอนเตอโรแบคเตอร์, ซูโดโมนาส เออรูจิโนซ่า, ซูโดโมนาส ซูโดมอลลิไอ (Streptococcus spp., E. coli, Klebsiella pneumoniae, Enterobacter spp., Pseudomonas aeruginosa, Pseudomonas pseudomallei) ส่วนเชื้อที่พบเฉพาะที่ตัวโคได้แก่เชื้อสแตปไฟโลคอกคัส ออเรียส, สเตรปโตคอกคัส อกาแลคติอี (Staphylococcus aureus, Streptococcus agalactiae) เชื้อจำนวนมากขึ้นเมื่อมีแรงมากระแทกที่เต้านมจะทำให้รูหัวนมเปิดเชื้อก็จะเข้าสู่ภายในเต้านมได้ เมื่อเข้าสู่ภายในแล้วเชื้อจะไปทำลายเนื้อเยื่อของเต้านมโดยการเกาะยึดเนื้อ เมื่อเซลล์เต้านมอักเสบเม็ดเลือดขาวจากเส้นเลือดก็พลั่งพลูเข้าสู่เต้านมเพื่อทำลายเชื้อตัวนั้น โคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบจึงตรวจพบปริมาณเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ


อาการ
เต้านมอักเสบมี 2 ลักษณะสำคัญคือ
1. เต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของเต้านมและน้ำนม เป็นได้มากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ปริมาณเชื้อ และตัวแม่โค เต้านมอาจมีลักษณะบวม แข็ง เท่านั้น หรือในรายที่เป็นรุนแรงมากอาจถึงกับเต้านมแตกก็มี ส่วนลักษณะน้ำนมอาจพบตั้งแต่น้ำนมเป็นสีเหลืองเข้มข้นจนถึงเป็นน้ำใสมีหนองปนเลือด เต้านมอักเสบแบบนี้แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
1.1 เต้านมอักเสบชนิดรุนแรง เต้านมอักเสบนี้แม่โคจะแสดงอาการป่วยร่วมด้วย เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร หายใจหอบ ท้องเสีย
1.2 เต้านมอักเสบชนิดไม่รุนแรง เต้านมอักเสบชนิดนี้แม่โคจะกินอาหารได้ตามปกติ อาจพบมีไข้เล็กน้อย
1.3 เต้านมอักเสบชนิดเรื้อรัง เต้านมอักเสบชนิดนี้พบการเปลี่ยนแปลงของเต้านมได้เล็กน้อย หรืออาจพบแต่เพียงน้ำนมเปลี่ยนแปลงให้เห็นก็ได้ มักจะเป็นๆ หายๆ เมื่อคลำดูจะพบก้อนแข็งอยู่ภายในเต้านม
2. เต้านมอักเสบแบบไม่แสดงอาการ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะระของเต้านมและน้ำนมให้เห็น การอักเสบแบบนี้พบได้ 8-10 เท่าของการอักเสบแบบแสดงอาการ และมีสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพน้ำนมเสื่อม เนื่องจากปริมาณเชื้อแบคทีเรียและเม็ดเลือดขาวในน้ำนมสูง สามารถตรวจได้โดยใช้น้ำยา CMT หาปริมาณเม็ดเลือดขาวในน้ำนม
การตรวจวินิจฉัย
1. การคลำเต้านม โคที่เป็นโรคเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการ จะมีลักษณะเต้านมเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป ถ้าเป็นชนิดรุนแรงเต้านมจะบวม ร้อน แดง แข็ง และเจ็บปวดมาก โคจะแสดงอาการป่วยร่วมด้วย ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากเชื้อโคไลฟอร์ม แบคทีเรีย (Coliform bacteria) หรือซูโดโมนาส เออรูจิโนซ่า (Pseudomonas aeruginosa) ถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรงหรือเรื้อรังจะต้องตรวจคลำเต้านมหลังการรีดนมแล้ว จะทราบได้ว่าเต้านมมีก้อนแข็งอยู่ภายในหรือไม่ มีความเสียหายมากน้อยเพียงใด
2. ตรวจลักษณะของน้ำนมก่อนรีดนม ควรดูความผิดปกติของน้ำนมด้วยถ้วยตรวจนม (Strip cup) โดยรีดน้ำนมออกมา 2 - 3 สาย เพื่อดูว่าสี กลิ่น ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ น้ำนมมีตะกอนปะปนอยู่หรือไม่ ถ้าพบความผิดปกติก็ตรวจด้วยน้ำยา CMT ต่อไป แต่ถ้าโคเป็นโรคเต้านมอักเสบแบบแสดงอาการรุนแรง น้ำนมจะมีลักษณะผิดปกติเห็นได้ชัดเจน เช่น เป็นหนองปนเลือดหรือเป็นน้ำใส
3. หาปริมาณเม็ดเลือดขาวในน้ำนม เป็นที่ทราบกันแล้วว่าเมื่อเกิดโรคเต้านมอักเสบปริมาณเม็ดเลือดขาวในน้ำนมจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนม กล่าวกันว่าถ้าในน้ำมีปริมาณเม็ดเลือดขาวมากกว่า 500,000 เซลล์-ซี.ซี. ขึ้นไปแสดงว่าเต้านมนั้นเกิดการอักเสบ

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก http://www.dld.go.th/niah/AnimalDisease/     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น